กระดูกผุ กระดูกพรุน (ตอนที่ 3)

วัยหมดประจำเดือน (Menopause) มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับโรคกระดูกพรุน เพราะเมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง กระบวนการสร้างกระดูกก็จะช้าลงมากกว่าการสลายกระดูก (Bone remodeling) กระบวนการสูญเสียกระดูกจะเป็นไปประมาณ 10 ปี หลังวัยหมดประจำเดือน ทำให้ผู้หญิงหลังหมดประจำเดือนมีโอกาสกระดูกหักได้ง่าย นอกจากนี้ หากมีการหมดประจำเดือนเร็ว (ก่อนอายุ 40 ปี) ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสกระดูกหักและเป็นโรคกระดูกพรุนมากขึ้น

โดยทั่วไป ความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density : BMD) จะสัมพันธ์กับความแข็งแรงของกระดูก การวัดความหนาแน่นของกระดูกทำโดยใช้เครื่องสแกน ซึ่งช่วยในการบอกถึงความเสี่ยงของการแตกหัก อย่างไรก็ดี เครื่องมือดังกล่าวไม่สามารถคาดการณ์ว่าจะแตกหักขนาดไหน

มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งสหรัฐอเมริกา (National Osteoporosis Foundation) ได้ประเมินว่า มีชาวอเมริกัน 10 ล้านคน ที่เป็นโรคกระดูกพรุน และเกือบ 34 ล้านคนที่มีภาวะกระดูกบาง ซึ่งมีความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุนสูง ผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีกระดูกหนาแน่นเมื่ออายุระหว่าง 25 - 30 ปี บางคนอาจเร็วกว่านี้ ขึ้นกับปัจจัยความเสี่ยง

เมื่อถึงจุดสูงสุดความหนาแน่นของกระดูกก็จะค่อยๆ ลดลงโดยเริ่มที่อายุประมาณ 35 ปี เป็นต้นไป ความหนาแน่นของกระดูกจะลดลงทุกปี โดยจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดในระหว่าง 5 - 10 ปี หลังวัยหมดประจำเดือน และเป็นสาเหตุให้เกิดโรคกระดูกพรุน

ระหว่าง 5 - 10 ปี หลังวัยหมดประจำเดือน ผู้หญิงจะสูญเสียความหนาแน่นของกระดูกประมาณร้อยละ 2 - 4 ต่อปี หรือสูญเสียมวลกระดูกรวมได้มากถึงร้อยละ 25 - 30 นอกจากนี้ยังมีสถิติว่าผู้หญิง 1 คน ใน 3 คน ที่มีอายุ 90 ปี จะมีกระดูกสะโพกหักเนื่องจากโรคกระดูกพรุน สำหรับผู้ชายโรคกระดูกพรุนจะเกิดช้ากว่าผู้หญิงประมาณ 10 ปี

โดยทั่วไปตำแหน่งที่มีการวัดความหนาแน่นของกระดูกคือ กระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง และกระดูกส้นเท้า วิธีที่นิยมใช้กันคือ DXA หรือ DEXA (Dual energy X-ray absorptiometry) ซึ่งไม่เจ็บปวดและใช้เวลาประมาณ 10 นาที ค่าที่ได้จะแสดงความแข็งแรงของกระดูกเรียกว่า T-score โดยนำค่านี้ไปเทียบกับค่าเฉลี่ยปกติในเพศและอายุช่วงเดียวกัน หากค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย T-score จะติดลบ ทั้งนี้ไม่ควรกินอาหารเสริมหรือยาที่มีแคลเซียม 24 ชั่วโมง ก่อนการตรวจวัด

ค่า T-score ที่อยู่ระหว่าง -1 และ -2.5 ถือว่ามีมวลกระดูกต่ำ หรือ มีภาวะกระดูกบาง (Osteopenia) ส่วนค่า T-score ที่อยู่ต่ำกว่า -2.5 ถือว่ามีกระดูกบางกว่าคนวัยเดียวกันถึง 2.5 เท่า และเป็นสัญญาณของการเป็นโรคกระดูกพรุน

นอกจากนี้การตรวจเลือดและปัสสาวะ เพื่อทดสอบระดับของเอ็นไซม์ (Enzymes) และสารอื่นๆ ที่หมุนเวียนอยู่ในร่างกาย ทำให้ทราบถึงภาวะของกระดูกพรุนได้ เช่น การตรวจวัด

  • ดัชนีการสร้างกระดูก Bone-specific alkaline phosphatase (Bone ALP or BALP) ซึ่งฟังดูแล้วการสร้างกระดูกน่าจะเป็นเรื่องดี แต่ความจริงหากมีการสร้างมากเกินไปก็ไม่ดีเหมือนกัน เพราะคนที่เป็นโรคกระดูกพรุนมักจะมีระดับ BALP ที่สูงกว่าปกติ 3 เท่า
  • ดัชนีการสร้างกระดูก Osteocalcin
  • ดัชนีการสลายกระดูก Urinary N-telopeptide of type I collagen หรือที่เรียกว่า uNTX
  • ระดับวิตามินดี เพื่อประเมินว่ามีการขาดวิตามินดีที่เป็นส่วนสำคัญต่อการดูดซึมแคลเซียมหรือไม่

แหล่งข้อมูล:

  1. Bone Density Scan. http://www.webmd.com/osteoporosis/guide/bone-mineral-density [2012, December 21].
  2. What Is Osteoporosis? What You Need to Know. http://www.webmd.com/osteoporosis/guide/what-is-osteoporosis-osteopenia [2012, December 21].
  3. Causes of Osteoporosis. http://www.webmd.com/osteoporosis/guide/strong-bones [2012, December 21].
  4. Understanding Osteoporosis – Prevention. http://www.webmd.com/osteoporosis/guide/osteoporosis-prevention [2012, December 20].
  5. Know Your Osteoporosis Blood Test Markers. http://www.webmd.com/osteoporosis/guide/know-your-osteoporosis-blood-test-markers [2012, December 21].