กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคกรดไหลย้อน (Gastoesophageal reflux disease) หรือ เรียกย่อว่า โรคเกิร์ด (GERD) หรืออาจเรียกว่า โรคกรดไหลกลับ ได้แก่โรคซึ่งกรดที่ควรมีอยู่แต่เฉพาะในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร และก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ เช่น อาการแสบร้อนกลางอก (Heartburn) ลำคอและกล่องเสียงอักเสบ (เจ็บคอเรื้อรัง มีเสลด และอาจเสียงแหบเป็นครั้งคราว)

กรดไหลย้อนเป็นโรคพบได้บ่อยทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย โดยพบได้ใกล้เคียงกัน เป็นโรคพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบอัตราเกิดสูงขึ้นในอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป โดยพบได้สูงสุดในคนอายุ 60 - 70 ปีขึ้นไป มีรายงานว่าในคนตะวันตกพบโรคนี้ได้ประมาณ 10 - 20% ของประชากร ในสหรัฐอเมริกาพบได้ประมาณ 25 - 40% ที่จะมีอาการของโรคนี้ ซึ่งคาดว่าเมื่อคนมีอายุยืนยาวมากขึ้น ก็จะพบโรคนี้ได้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ส่วนในเอเซียที่รวมทั้งตะวันออกเฉียงใต้มีรายงานพบได้ประมาณ 2-16%ของประชากร

อนึ่ง ชื่ออื่นของ GERD คือ Acid reflux, Heartburn

โรคกรดไหลย้อนเกิดได้อย่างไร?

กรดไหลย้อน

ระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร จะมีกล้ามเนื้อทำหน้าที่เป็นหูรูด (Sphincter) ช่วยบีบบังคับไม่ให้อาหารและกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร ทั้งนี้เพราะกรดจะทำลายเยื่อบุหลอดอาหาร ก่อให้เกิดอาการและโรคต่างๆตามมา เพราะเนื้อเยื่อหลอดอาหารไม่สามารถทนต่อกรดได้ ดังนั้น เมื่อเกิดภาวะที่ทำให้หูรูดนี้หย่อนยาน หรือปิดไม่สนิท จึงส่งผลให้กรดและอาหารที่กำลังย่อยในกระเพาะอาหาร ไหลทวนย้อนกลับเข้าสู่หลอดอาหาร

ภาวะที่ทำให้เกิดการหย่อนยาน และ/หรือการปิดไม่สนิทของหูรูดที่สำคัญ คือ อายุ กระ เพาะอาหารบีบตัวได้น้อยลง และการมีความดันในกระเพาะอาหารสูงขึ้น (เช่น ในคนอ้วนหรือในคนที่กินอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมาก/อิ่มมากเกินไป)

ก. อายุ:

  • ในผู้สูงอายุเซลล์/เนื้อเยื่อทุกชนิดของร่างกายจะเสื่อมลงรวมทั้งของหูรูดนี้ ดังนั้นจึงเกิดการหย่อนยาน ทำงานประสิทธิภาพลดลง อาหารและกรดในกระเพาะอาหารจึงดันท้นย้อนกลับเข้าในหลอดอาหาร
  • ส่วนในเด็กอ่อนเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ การทำงานจึงหย่อนยาน เด็กอ่อนจึงมีการขย้อนนมและอาหารออกมาได้ แต่อาการเหล่านี้จะหายไปเองเมื่อเด็กโตขึ้น เพราะกล้ามเนื้อหูรูดจะแข็งแรงขึ้น

ข. กระเพาะอาหารบีบตัวลดน้อยลง จากสาเหตุต่างๆ เช่น

  • จากสูงอายุขึ้น (อายุ 40 ปีขึ้นไป เซลล์ต่างๆทุกชนิดของร่างกายรวมทั้งของหูรูดและของกระเพาะอาหารจะค่อยๆเสื่อมลงๆ) หรือ
  • จากการอักเสบของกระเพาะอาหาร หรือของเส้นประสาทกระเพาะอาหาร หรือ
  • จากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาคลายเครียด ยาลดกรด (อ่านเพิ่มเติมใน วิธีใช้ยาลดกรด) ยาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ หรือจากสารบางอย่างที่ทำให้กล้ามเนื้อหย่อนยาน เช่น สุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจากการบีบตัวลดลง จึงส่งผลให้เกิดการคั่งของอาหารและกรด จึงเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหาร ดันให้หูรูดนี้เปิด อาหาร/กรดจึงไหลย้อนกลับเข้าสู่หลอดอาหาร

ค. การมีแรงดันในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น จึงดันให้หูรูดนี้เปิดหรือปิดไม่สนิท อาหาร/กรดจากกระเพาะอาหารจึงไหลท้นย้อนกลับเข้าหลอดอาหาร เช่น

  • โรคอ้วน
  • การตั้งครรภ์
  • อาการไอ โดย เฉพาะการไอเรื้อรัง
  • การกินอาหารในแต่ละมื้อในปริมาณสูง (กินอิ่มมากเกินไป)
  • การกินแล้วนอนเลย และ
  • กินอาหารประเภทชนิดมีคุณสมบัติค้างอยู่ในกระเพาะอาหารได้นาน เช่น อาหาร ไขมัน

โรคกรดไหลย้อนมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคกรดไหลย้อน ได้แก่

  • อายุ ดังกล่าวแล้ว อายุยิ่งสูงขึ้น โอกาสเกิดโรคนี้ยิ่งสูงขึ้น
  • การกินอาหารแต่ละมื้อในปริมาณสูง โดยเฉพาะกินมื้อเย็นก่อนนอน เพราะปริมาณอาหารยังค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร และการนอนราบยังเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหาร อาหารและกรดจึงไหลย้อนกลับเข้าหลอดอาหารได้ง่าย
  • การนอนราบหลังกินอาหาร เพราะจะเกิดแรงดันในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากอาหาร/เครื่องดื่ม
  • ประเภทอาหาร และเครื่องดื่ม ได้แก่
    • ประเภทอาหารที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารได้นาน เช่น ไขมัน มันฝรั่งทอด มันเผาหรือมันต้ม อาหารทอด อาหารผัดน้ำมันมากๆ
    • อาหารและเครื่องดื่มที่มีสารช่วยการคลายตัวของกล้ามเนื้อ เพราะจะลดการบีบตัวของกระเพาะอาหาร เช่น ช็อกโกแลต สุรา/แอลกอฮอล์
    • เครื่องดื่มมีกาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มกลุ่มโคล่า ยาชูกำลังบางชนิด) เพราะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดมากขึ้น
    • อาหารที่ก่อการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เช่น อาหารรสจัด เผ็ดจัด เครื่องดื่มและอา หารที่มีความเป็นกรด (เช่น รสเปรี้ยว มะเขือเทศ)
    • อาหารและเครื่องดื่มที่ให้แก๊สมาก (เช่น น้ำอัดลม หอม กระเทียม)
    • นอกจากนั้นแต่ละคนต้องสังเกตตนเองว่า อาหารและเครื่องดื่มประเภทใด ปริมาณอย่างไรที่กระตุ้นให้เกิดอาการ หรือก่อให้เกิดอาการมากขึ้น ทั้งนี้เพราะแต่ละคนจะไวต่ออาหารได้แตก ต่างกัน
  • บุหรี่ เพราะมีสารพิษ เพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร และอาจทำให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารลดลง
  • โรคเรื้อรังต่างๆที่มีผลต่อการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ รวมทั้งของกระเพาะอาหารและของเส้น ประสาทกระเพาะอาหารเช่น โรคเบาหวาน และโรคที่ส่งผลให้มีการไอเรื้อรัง เช่น โรคถุงลมโป่งพอง
  • โรคอ้วน เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องสูงขึ้น ความดันในกระเพาะอาหารจึงสูงขึ้น
  • การตั้งครรภ์ เพราะเพิ่มความดันในกระเพาะอาหารจากครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น
  • โรคของกะบังลม ซึ่งมักเป็นแต่กำเนิด ทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมหย่อนหรือมีช่อง กระเพาะอา หารจึงดันเข้าไปอยู่ในช่องอก ส่งผลให้มีอาหารค้างในกระเพาะอาหาร รวมทั้งเพิ่มความดันในกระเพาะอาหารด้วย
  • โรคกล้ามเนื้อ และ/หรือ ของเนื้อเยื่อต่างๆ (พบได้น้อย) ส่งผลให้กล้ามเนื้อ และ/หรือเนื้อเยื่อหลอดอาหารและกระเพาะอาหารทำงานด้อยประสิทธิภาพลง

โรคกรดไหลย้อนมีอาการอย่างไร?

อาการพบบ่อยของโรคกรดไหลย้อน ได้แก่

  • อาการแสบร้อนกลางอก ซึ่งเป็นอาการสำคัญของโรคนี้ แต่พบในคนปกติเป็นครั้งคราวได้เมื่อกินอาหารมากเกินไป หรือกินอาหารรสจัด แต่เมื่อมีอาการบ่อย หรืออาการไม่หายไปภายใน 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์ เพราะมักเกิดจากโรคกรดไหลย้อน แต่เมื่อมีอาการแสบร้อนกลางอกรุนแรง ควรต้องรีบพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉิน เพื่อแยกจากอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • เรอบ่อย โดยเฉพาะเมื่อตื่นนอนทั้งที่ยังไม่ได้กินอะไร ทั้งนี้เพราะจากภาวะมีกรด และมีอาหารบางส่วนค้างในกระเพาะอาหาร
  • อาจปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ (บริเวณกระเพาะอาหาร) เรื้อรัง
  • สะอึกบ่อย
  • เจ็บคอเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนตื่นนอน จากกรดและอาหารไหลท้นถึงลำคอ ก่อการอักเสบเรื้อรังของลำคอ
  • ไอเรื้อรัง จากอาหารและกรดท้นขึ้นมาถึงลำคอ จึงเกิดลำคออักเสบเรื้อรัง
  • อาจมีเสียงแหบเป็นๆหายๆเรื้อรังโดยเฉพาะเกิดในตอนตื่นนอน จากอาหารและกรดไหลท้นถึงกล่องเสียง ทำให้กล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง
  • มีรสเปรี้ยวในช่องปากเสมอ จากมีเศษอาหารและกรดไหลท้นถึงช่องปาก
  • อาจอาเจียน หรือขย้อนอาหารออกมาได้บ่อยผิดปกติ หลังกินอาหาร
  • มีเสมหะ หรือของเหลว หรือสารคัดหลั่งไหลลงลำคอเสมอ ก่ออาการไอเรื้อรัง จากมีการอักเสบเรื้อรังของไซนัส (ไซนัสอักเสบ) สาเหตุจากอาหารและกรดท้นขึ้นมาถึงโพรงหลังจมูก
  • อาการจากโรคหืดที่ในบางรายมีสาเหตุจากโรคกรดไหลย้อน (ไอ หอบ เหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด) หรือทำให้อาการของโรคหืดที่เป็นอยู่ก่อนแล้วรุนแรงขึ้น แพทย์เชื่อว่าจากมีกรดไหลท้นสู่หลอดลม/ปอด จึงก่อการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม
  • บางคนอาจมีกลิ่นปาก จากมีการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อช่องปากและลำคอที่สัมผัสกรด ส่งผลให้มีการเน่าเปื่อยของเศษอาหารและมีแบคที่เรียที่ก่อกลิ่นเพิ่มขึ่น

แพทย์วินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนได้จาก ประวัติอาการ การตรวจลำคอ การตรวจร่างกาย การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์แยกจากโรคปอดต่างๆ การส่องกล้องตรวจกล่องเสียง หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้ และอาจตัดชิ้นเนื้อในบริเวณที่ผิดปกติเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อแยกจากโรคมะเร็งหลอดอาหาร และอาจมีการตรวจวิธีเฉพาะอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ตรวจวัดภาวะความเป็นกรดของหลอดอาหารในขณะส่องกล้อง ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

รักษาโรคกรดไหลย้อนอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคกรดไหลย้อน ได้แก่

ก. การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น

  • การปรับพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง
  • เลิก/จำกัดอาหาร เครื่องดื่มที่เป็นปัจจัยเสี่ยง
  • เลิกบุหรี่ เลิกสุรา
  • ควบคุมน้ำหนักตัว ไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน

ข. เมื่อมีอาการเรื้อรังรุนแรงขึ้น แพทย์จะให้ยาต่างๆ เช่น

  • ยาลดกรด(อ่านเพิ่มเติมในบทความ วิธีใช้ยาลดกรด) และ/หรือ
  • ยาเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหาร (เช่น ยา Metoclopramide)

ค. เมื่ออาการเลวลงมาก อาจต้องให้การผ่าตัดหูรูดระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร แต่ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เพราะการผ่าตัดไม่ได้ผลดีในผู้ป่วยทุกราย

ดังนั้น ในการรักษาควบคุมโรคกรดไหลย้อน ผู้ป่วยต้องระลึกเสมอว่า

  • โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย แต่รักษาควบคุมอาการได้ดี โดยต้องควบคู่กันไประหว่างการปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังได้กล่าวในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง (อ่านเพิ่ม เติมในหัวข้อ การดูแลตนเอง) และร่วมกับ
  • การรักษาจากแพทย์กรณีเมื่อมีอาการต่างๆต่อเนื่อง ซึ่งการรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวโดยไม่ปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต ไม่สามารถรักษาควบคุมโรคกรดไหลย้อนได้

โรคกรดไหลย้อนมีผลข้างเคียงไหม? รุนแรงไหม?

การพยากรณ์โรคของโรคกรดไหลย้อน คือเป็นโรคไม่รุนแรง ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่เป็นโรคเรื้อรัง ส่งผลถึงคุณภาพชีวิต การรักษาให้หายมักเป็นไปได้ยาก แต่การรักษาจะช่วยให้โรคสงบได้นาน และช่วยชะลอความรุนแรงของโรค

ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อนหรือภาวะแทรกซ้อน) ที่พบได้จากโรคกรดไหลย้อน คือ

  • โรคคอและกล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง
  • โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง
  • โรคหืด และ
  • ฟันผุง่าย เหงือกอักเสบบ่อย จากช่องปากเป็นกรด และจากกรดไหลย้อนถึงช่องปาก

นอกจากนั้น คือเป็นสาเหตุให้หลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเซลล์ที่อักเสบเรื้อรังเหล่านี้ อาจเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ ดังนั้น การเป็นโรคกรดไหลย้อน จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้ ถึงแม้ โอกาสเกิดจะน้อยก็ตาม

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อเป็นโรคกรดไหลย้อน ต้องระลึกเสมอว่าเป็นโรคเรื้อรัง ไม่มีโอกาสรักษาได้หาย แต่สามารถควบคุมอาการให้เป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติได้ด้วยการดูแลตนเองเพื่อการปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต และร่วมกับการรักษาจากแพทย์กรณีมีอาการต่อเนื่อง

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกรดไหลย้อน ได้แก่

  • ปฏิบัติตามแพทย์และพยาบาลแนะนำ
  • หลีกเลี่ยงสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
  • กินอาหารแต่ละมื้อให้น้อยลง ไม่กินแล้วนอนเลย ต้องรออาหารย่อยผ่านกระเพาะอาหารไปก่อน (ประมาณ 2 - 3 ชั่วโมงหลังกินอาหาร)
  • สังเกตอาหารและเครื่องดื่มที่สัมพันธ์กับอาการ ทั้งประเภทและปริมาณ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือจำ กัดการบริโภค
  • งด/เลิก ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
  • ควบคุมน้ำหนัก ลดน้ำหนักเมื่อมีโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • นอนในท่าเอนตัวเสมอ ไม่นอนราบ
  • ไม่ก้มหยิบของเมื่อกินอาหารอิ่มๆ เพราะเพิ่มความดันต่อกระเพาะอาหาร
  • ไม่ใส่เสื้อผ้าหรือรัดเข็มขัดจนแน่น เพราะเพิ่มความดันต่อกระเพาะอาหาร
  • ควบคุมรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่างๆเลวลงหรือผิดไปจากเดิม
  • รีบพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เมื่อ
    • อาเจียนเป็นเลือด
    • ไอเป็นเลือดไอมาก หรือ สำลักบ่อย
    • เจ็บคอมาก
    • เจ็บเวลากลืน หรือกลืนแล้วติด
    • อาเจียน หรือขย้อนอาหารบ่อยมาก
    • เจ็บหน้าอกรุนแรง
    • ปวดท้องรุนแรง
    • อุจจาระดำ ลักษณะเหมือนยางมะตอย เพราะเป็นอาการมีเลือดออกในหลอดอาหารและ/หรือในกระเพาะอาหาร (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เลือดออกในทางเดินอาหาร)

ป้องกันโรคกรดไหลย้อนได้อย่างไร?

การป้องกันโรคกรดไหลย้อน ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง (ที่หลีกเลี่ยงได้) ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
  • ปรับพฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิตและปฏิบัติตน ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ การดูแลตนเอง
  • ป้องกันโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • รักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง(ที่กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง)ให้ได้ดี

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill
  2. Kahrilas, P. (2003). GERD pathogenesis, pathophysiology, and clinical manifestations. Cleveland Clinic Journal of Medicine. 70, s4-s18
  3. Pandit ,S. et al. Pathophysiology 2018; 25: 1-11
  4. Wong B,C. and Kinoshita Y. Clin Gastroenterol Hepatol. 2006;4(4):398-407
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Gastroesophageal_reflux_disease [2018,Oct13]
  6. http://emedicine.medscape.com/article/176595-overview#showall [2018,Oct13]