logo

คำถามจาก วิกิยา

Home / FAQ ยา/ ยาหอม

คำถามเกี่ยวกับยา

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ยาหอม

ตามประกาศบัญชียาแผนโบราณสามัญประจำบ้าน ปี พ.ศ. 2542 ของกระทรวงสาธารณสุขได้มียาตำรับแผนโบราณ 27 ตำรับ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่ามีประสิทธิภาพดีและใช้กันมายาวนาน ในจำนวนนั้นมียาหอมอยู่ถึง 4 ชนิด คือ

1. ยาหอมเทพจิตร: ใช้แก้ลม บำรุงหัวใจ โดยผสมน้ำดอกไม้เทศเป็นกระสาย ซึ่งตามหลักการแพทย์แผนไทย บำรุงหัวใจ หมายถึง บำรุงให้จิตใจรู้สึกแช่มชื่น เหมาะกับคนที่รู้สึกซึมเศร้า มีอารมณ์เศร้าหมอง ที่มักเกิดขึ้นในบางเวลา หรือคนสูงอายุที่รู้สึกเหงา เศร้า อย่างไรก็ดีการใช้ยาหอมในกลุ่มอาการเหล่านี้ ใช้ได้เฉพาะอาการที่แรกเริ่ม ไม่ใช่ยารักษาอาการสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตเวชที่ต้องปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบัน

2. ยาหอมทิพโอสถ: แก้ลมวิงเวียน แก้ลมบาดทะจิต โดยใช้น้ำดอกมะลิเป็นน้ำกระสายยา นอกจากใช้แก้ลมวิงเวียน ยังสามารถใช้ในสตรีที่มักมีความรู้สึกหงุดหงิดโกรธง่ายในช่วงก่อนมีประจำเดือน เนื่องจากเป็นผลกระทบของความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบเดือนและกระทบต่อจิตใจ เนื่องจากยาที่มีดอกไม้เป็นส่วนผสม จะช่วยลดผลกระทบของความร้อนดังกล่าว ทำให้จิตใจเย็นลง โดยไม่ทำให้โลหิตเย็นซึ่งกระทบต่อการมีประจำเดือน

3. ยาหอมอินทจักร: กรณีแก้คลื่นเหียนอาเจียน ใช้น้ำลูกผักชี หรือเทียนดำ ต้ม หรือน้ำสุกเป็นกระสาย กรณีแก้ลมจุกเสียดใช้น้ำขิงต้มเป็นกระสาย ส่วนกรณีแก้อาการหงุดหงิดกระวนวาย จิตใจไม่สงบ หรือที่โบราณเรียกว่าลมบาดทะจิต (ละเมอเพ้อพกพูดคนเดียวเหมือนผีเข้า เกิดจากจิตระส่ำระสาย) ใช้น้ำดอกมะลิเป็นกระสาย อย่างไรก็ดีไม่แนะนำให้ใช้ในกรณีที่เป็นไข้สูงและเพ้อ

4. ยาหอมนวโกฐ: กรณีแก้ลมคลื่นเหียนอาเจียน ใช้น้ำลูกผักชี เทียนดำ ต้มเป็นกระสาย กรณีแก้ลมปลายไข้ ใช้ก้านสะเดา ลูกกระดอม และบอระเพ็ด ต้มเอาน้ำเป็นกระสาย ถ้าหาน้ำกระสายไม่ได้ใช้น้ำสุกแทน ทั้งนี้รายงานการวิจัยพบว่า ยาหอมนวโกฐเพิ่มความแรงการบีบตัวของหัวใจและเพิ่มความดันโลหิตเล็กน้อย ทำให้หลอดเลือดเล็กที่ไปเลี้ยงสมองขยายตัวและปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยาหอมนวโกฐยังมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้หลับสบาย และทำให้การหลั่งกรดลดลง และยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็ก แก้ปวดท้องได้ดี

การใช้ยาหอมให้ได้ผล แม้จะเป็นชนิดเม็ด ควรนำมาละลายน้ำกระสายยา หรือน้ำอุ่นกินขณะกำลังอุ่น เหมือนกับวิธีการดั้งเดิม เพื่อช่วยการออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยที่มีในยาหอม ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น และออกฤทธิ์ทั้งผ่านประสาทรับกลิ่นและผ่านการดูดซึมผ่านกระเพาะอาหาร

  • การเลือกใช้ยาหอมให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ควรเลือกชนิดของยาหอมและน้ำกระสายยาให้ถูกกับอาการ
  • ขนาดยาหอมที่ใช้ ควรใช้ตามคำแนะนำในฉลากยา การกินเกินขนาดที่แนะนำไม่ทำให้เกิดอาการเป็นพิษทันที แต่จะผลักดันให้การทำงานของธาตุเปลี่ยนไปเร็ว และทำให้สมดุลอาจขาดหรือเกินไปอีกทางได้
  • หากไม่สามารถซื้อหรือเก็บยาหอมหลายชนิดไว้ในตู้ยาประจำบ้าน ก็สามารถเลือกยาหอมประเภทกลางๆ เช่น ยาหอมอินทจักร และใช้ร่วมกับน้ำกระสายยาตามที่ระบุ
  • ควรระวังการกินยาร่วมกับยาในกลุ่มยากันเลือดเป็นลิ่ม (Anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (Antiplatelets)
  • ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของ ตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูร และเกิดพิษได้
  • ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้
  • ในหญิงตั้งครรภ์ ในเด็กเล็ก และในหญิงให้นมบุตร ควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกรก่อนใช้ยาทุกชนิด ทั้งแผนปัจจุบัน แผนไทย สมุนไพร ฯลฯ ที่รวมถึง “ยาหอม” ด้วย