logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ ไข้เลือดออก

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออกหรือโรคไข้เลือดออกเดงกี (Dengue hemorrhagic fever / DHF) เป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศไทยโดยเฉพาะในฤดูฝน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ โดยมียุงลายตัวเมียเป็นพาหะโรค เชื้อนี้สามารถมีชีวิตอยู่ในตัวยุงตลอดอายุของยุง คือประมาณ 1 - 2 เดือน หากยุงลายตัวนั้นกัดคนอื่น เชื้อไวรัสเดงกีในยุงจะถูกถ่ายทอดไปให้แก่คนได้ เป็นโรครุนแรงแต่โอกาสรักษาหายสูงเมื่อได้รับการวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่แรก อย่างไรก็ดีหากไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 50% จากการเกิดภาวะแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่คนที่ได้รับเชื้อไวรัสเดงกีเป็นครั้งแรกมักไม่มีอาการ หรืออาจมีเพียงไข้สูง ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และเบื่ออาหารเท่านั้น แต่ในคนที่ติดเชื้อนี้เป็นครั้งที่ 2 โดย เฉพาะเชื้อนั้นเป็นเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงถึงช็อกได้

ในปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาโรคไข้เลือดออกโดยตรง หากอาการไม่รุนแรงโรคนี้จะหายได้เอง ดังนั้นการรักษาที่มีจึงเป็นเพียงการรักษาตามอาการ และการรักษาภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคไข้เลือดออก คือ เลือดออกตามอวัยวะต่างๆ ซึ่งมีตั้งแต่ไม่รุนแรง เช่น เลือดออกที่ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล จนถึงเลือดออกรุนแรงตามอวัยวะภายในต่างๆ เช่น สมอง กระเพาะอาหาร ลำไส้ และปอด เป็นต้น

ภาวะเลือดออกง่ายนี้เกิดจากเกล็ดเลือดต่ำจากตัวโรคไข้เลือดออกเอง โดยเกล็ดเลือดจะมีปริมาณกลับสู่ปกติในระยะฟักฟื้นได้เอง แต่ในช่วงที่เกล็ดเลือดต่ำควรหลีกเลี่ยงการกระทบกระแทก การทำหัตถการ หรือการผ่าตัด และยาบางชนิดที่ทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ หรือระบบแข็งตัวของเลือดปกติ เช่น ยาป้องกันเลือดแข็งตัว ยาแอสไพริน ยาแก้ปวด และแก้อักเสบกลุ่มเอนเสด (NSAIDs: Nonsteroidal anti-inflammatory drugs) เช่น Ibuprofen และ Indomethacin เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาวะน้ำเกินในร่างกายจนเกิดมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดหรือในช่องท้องมากเกิน ไป จนทำให้หอบเหนื่อยหายใจลำบากก็เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญเช่นเดียวกัน ภาวะนี้เกิดจากการรั่วไหลของน้ำออกนอกหลอดเลือดในช่วงที่เข้าสู่ระยะช็อก หากแพทย์ตรวจพบและให้การรักษาที่ทันท่วงที และเลือกใช้ชนิดและกำหนดปริมาณสารน้ำที่เหมาะสมให้ทางหลอดเลือดดำแก่ผู้ป่วย ผู้ป่วยจะสามารถผ่านพ้นระยะนี้ได้อย่างปลอดภัย

เนื่องจากยุงลายเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ดังนั้นการลดปริมาณยุงและการป้องกันยุงกัดจึงเป็นหัวใจของการป้องกันโรคนี้ โดยนิสัยของยุงลายชอบแพร่พันธุ์ในน้ำนิ่งใสและชอบกัดในเวลากลางวัน ดังนั้นควรนอนกางมุ้งแม้ในเวลากลางวัน และควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้านและรอบๆบ้าน

ปัจจุบันกำลังมีการวิจัยวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่องจริงจัง และมีการนำมาใช้ทางคลินิกบ้างแล้วในบางประเทศ แต่ผลที่ได้รับและความปลอดภัยของวัคซีนยังไม่ชัดเจน