logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ โรคฉี่หนู

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : โรคฉี่หนู

โรคฉี่หนูเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียจากสัตว์มาสู่คน โดยสามารถติดเชื้อโรคจากสัตว์ได้หลายชนิด เช่น หนู หมู วัว ควาย แพะ แกะ เป็นต้น เข้าสู่ร่างกายคนผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผลหรือมีรอยขีดข่วน หรืออาจไชเข้าทางผิวหนังปกติที่เปียกชุ่มจากการแช่น้ำนานๆ หรือไชเข้าทางเยื่อบุต่างๆ เช่น เยื่อบุตา จมูก ปาก ดังนั้นการดื่มน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคก็อาจติดเชื้อได้ นอกจากนี้การสูดหายใจเอาละอองปัสสาวะที่มีเชื้อโรคก็อาจจะติดเชื้อได้อีกด้วย

เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย จะใช้เวลาประมาณ 2-26 วัน (เฉลี่ย 1-2 สัปดาห์) จึงจะปรากฏอาการ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีอาการแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ

1. ไม่มีอาการ: ประมาณ 15-40% ของคนที่ติดเชื้อ ไม่แสดงอาการให้ปรากฏ

2. อาการแสดงแบบไม่รุนแรง: ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อและมีอาการจะอยู่ในกลุ่มนี้

  • ในช่วงแรก ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ และอาการปวดกล้ามเนื้อที่เป็นลักษณะจำเพาะของโรคนี้คือ ปวดน่องขาทั้ง 2 ข้าง อาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อหลังและท้องร่วมด้วยได้ อาการอื่นๆ เช่น เยื่อบุตาบวม มีเลือดออกที่เยื่อบุตา มีผื่นที่อาจเป็นจุดแดงราบ จุดแดงนูน หรือจุดเลือดออก ตากลัวแสง มีอาการสับสน ไอเป็นเลือด ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ และ/หรือรักแร้โต ตับ ม้ามโต อาจมีตัวเหลืองเล็กน้อย ปวดท้องจากตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ หรือถุงน้ำดีอักเสบ ปวดตามข้อ อุจจาระร่วง อาการจะเป็นอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์แล้วหายไป
  • ประมาณ 1-3 วันต่อมา อาการจะกลับมาเป็นอีก ซึ่งอาการจะค่อนข้างหลากหลายกว่าอาการช่วงแรก แต่มีความรุนแรงที่น้อยกว่า เช่น อาจจะปวดกล้ามเนื้อที่น่องเพียงเล็กน้อย แต่ที่เป็นลักษณะเฉพาะของอาการในช่วงที่ 2 คือ เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการต้นคอแข็ง ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน บางรายอาจไม่มีอาการ แต่ถ้าตรวจน้ำไขสันหลังจะพบมีเซลล์เม็ดเลือดขาวขึ้นสูง อาการอาจจะเป็นอยู่ 2-3 วัน หรืออาจนานหลายสัปดาห์ แต่ในที่สุดอาการจะหายไปโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น

3. อาการแสดงแบบรุนแรง (Weil’s syndrome): อาการจะเหมือนผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง ซึ่งจะเป็นอยู่ 4-9 วัน ต่อมาจะมีตัวเหลือง ตาเหลืองมาก นอกจากนี้เชื้อโรคทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดเล็กๆ ในอวัยวะต่างๆ แบบรุนแรง ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำออกจากหลอดเลือด นำมาสู่ภาวะช็อก และเกิดภาวะไตวายฉับพลัน อาจเกิดภาวะเลือดออกง่าย เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะเป็นเลือด มีเลือดออกในปอดซึ่งอาจทำให้ไอเป็นเลือดรุนแรงได้ หอบเหนื่อยมาก จนกระทั่งเกิดภาวะหายใจล้มเหลว มีเลือดออกในลำไส้ทำให้อุจจาระเป็นเลือด มีจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดตามตัว นอกจากนี้อาจเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ จนกระทั่งเกิดภาวะหัวใจวาย และในที่สุดก็ทำให้อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายเกิดภาวะล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด

เมื่อร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคขึ้นมาแล้ว เชื้อเลปโตสไปร่าก็จะถูกกำจัดไปจากร่างกาย ยกเว้นที่ตากับท่อไตเล็กๆ ที่เชื้อโรคอาจจะยังคงอยู่นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน การที่เชื้อโรคยังคงอยู่ในตา จึงมีโอกาสที่ทำให้ผู้ป่วยบางคนเกิดอาการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุภายในลูกตา (Chronic uveitis) หรือม่านตา (Iritis) ได้

  1. ควบคุมกำจัดหนูในบริเวณที่อยู่อาศัยของคน โดยเฉพาะในบริเวณ บ้านพักอาศัย สถานที่ทำงาน ร้านอาหาร ตลาด แหล่งพักผ่อน และสถานที่ท่องเที่ยว
  2. หลีกเลี่ยงอาหารค้างคืนโดยไม่มีภาชนะปกปิด เพราะอาจมีหนูมากินได้
  3. ควรสวมชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ต ถุงมือยาง ถุงเท้ายาง เมื่อต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ที่อาจมีเชื้อโรค หรือ ต้องทำงานในน้ำ หรือต้องลุยน้ำ ลุยโคลน
  4. รีบอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็วหากสัมผัสกับปัสสาวะของสัตว์ที่อาจมีเชื้อโรค หรือแช่/ย่ำลงไปในแหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ
  5. หลีกเลียงการใช้น้ำ หรือลงไปว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่อาจจะมีเชื้อโรคปน เปื้อนอยู่ เช่น แหล่งน้ำนั้นเป็นที่กินน้ำของ วัว ควาย หมู