logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ โควิด 19

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : โควิด 19

โรคติดเชื้อไวรัสในกลุ่มโคโรนาไวรัส (Coronavirus ย่อว่า CoV/โควี) ที่ทำให้เกิดโรคในคนมี  7 สายพันธุ์ย่อยหลัก (แต่ละสายพันธ์ย่อยจะแตกเป็นสายพันธ์ย่อยๆ ได้อีกหลายๆสายพันธ์ โดยเชื้อ 4 สายพันธุ์ย่อยหลักจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อยและสามารถหายเป็นปกติเองได้ ส่วนอีก 3 สายพันธุ์ย่อยหลักที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ โรคซาร์ส (SARS จากเชื้อชนิด SARS-CoV) โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS จากเชื้อชนิด MERS-CoV) และโควิด-19/COVID-19 (จากเชื้อชนิด SARS-CoV-2) ซึ่งทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจรุนแรงที่มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง ซึ่งที่มีวัคซีนและมียาต้านไวรัสรักษาเฉพาะคือ โรค COVID-19

การติดต่อของเชื้อโคโรนาไวรัสเกิดจากการหายใจเอาเชื้อไวรัสนี้ที่กระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย หรือการสัมผัสกับสิ่ง/สารคัดหลั่งเหล่านี้แล้วนำมาสัมผัสกับเยื่อบุจมูก ตา หรือปาก ซึ่งเรียกว่าเป็น Droplets transmission หรือการอยู่อาศัยและสัมผัสใกล้ชิด (Close person-to-person contact) ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ติดโรคได้ เช่น การกอด การจูบ การสัมผัสเนื้อตัว การทักทายโดยการจับมือ การกินอาหารโดยใช้ภาชนะร่วมกัน การดื่มน้ำ/เครื่องดื่มจากแก้ว/ขวดเดียวกัน เป็นต้น นอกจากนี้สามารถตรวจพบเชื้อไวรัสจากอุจจาระในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการถ่ายอุจจาระเหลวได้  ดังนั้นการติดต่ออาจเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วยได้ด้วย

ระยะฟักตัวของโรค คือ ตั้งแต่รับเชื้อจนกระทั่งแสดงอาการจะประมาณ 2-4 วัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการเพียงเล็กน้อยไม่รุนแรง เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ จาม คัดจมูก มีน้ำมูกไหล เชื้อบางสายพันธุ์อาจทำให้มีอาการท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเหลวร่วมด้วยได้  อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วันและสามารถหายไปได้เองในที่สุด

ในผู้สูงอายุ เด็กทารก ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง หรือ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังของปอด และ หัวใจ เชื้ออาจทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้ เช่น ไข้สูง ไอมาก หายใจหอบเหนื่อย แต่มักจะไม่รุนแรงจนถึงขั้นเกิดภาวะหายใจล้มเหลว

สำหรับเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่รุนแรง จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการของปอดอักเสบที่รุนแรง ซึ่งมีอาการ เช่น ไข้สูง หนาวสั่น ปวดหัว อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร แล้วตามมาด้วยอาการไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ หอบเหนื่อย/หายใจลำบาก  ปอดอักเสบรุนแรง และอาจเกิดภาวะหายใจล้มเหลวจนกระทั่งเสียชีวิตได้ในที่สุด

  • การติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ยกเว้นสายพันธุ์ย่อยที่ทำให้เกิดโรครุนแรง จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อยสามารถหายได้เองเป็นปกติโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
  • ในผู้สูงอายุ เด็กทารก ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังของปอดและโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน กลุ่มโรคเอนซีดี สตรีตั้งครรภ์ อาจมีอาการค่อนข้างมากได้อันเนื่องจากเชื้อทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง จึงเกิดปอดอักเสบที่รุนแรงจนอาจถึงตายได้
  • หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่แออัด ผู้คนหนาแน่น อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1.5 เมตร
  • หากจำเป็นต้องเข้าไป ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันตนเองจากการสัมผัสกับละอองน้ำมูกน้ำลายจากผู้อื่น
  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือน้ำยาล้างมือโดยเฉพาะก่อนกินอาหารหรือก่อนปรุงอาหาร
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วน พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงและไม่ได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ควรแยกตัวจนกว่าจะหายสนิท ที่สำคัญ เช่น
    • ควรพักอยู่กับบ้าน และป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนใกล้ชิดโดย
    • ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก (หน้ากากอนามัย)
    • ใช้ช้อนกลางกินอาหาร
    • แยกของใช้ส่วนตัว
    • ควรแยกห้องนอน