logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ เลือดออก

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : เลือดออก

พจนานุกรมศัพท์แพทยศาสตร์ อังกฤษ-ไทย ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2547 ให้ความหมายคำว่า เลือดออก / ตกเลือด ว่าได้แก่ อาการที่มีเลือดที่ตามปกติต้องอยู่ในหลอดเลือด ไหลออกมาอยู่ภายนอกหลอดเลือด แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

  • เลือดออกภายใน (Internal bleeding) - เกิดกับหลอดเลือดของอวัยวะภายในร่างกาย เช่น ในทางเดินอาหาร สมอง ม้าม ปอด
  • เลือดออกภายนอก (External bleeding) - เกิดกับหลอดเลือดของผิวหนัง และ/หรืออวัยวะที่เป็นช่อง (ทวาร) ที่ติดต่อกับภายนอกร่างกาย เช่น ช่องปาก หู จมูก ท่อปัสสาวะ ช่องคลอด และทวารหนัก

องค์การอนามัยโลก (WHO, World Health Organization) แบ่งความรุนแรงของการมีเลือดออกเป็น 5 ระดับ คือ

  • ระดับ 0 ไม่มีเลือดออก
  • ระดับ 1 เลือดออกเป็นจุดเล็กๆ แดงๆ เช่น ในโรคไข้เลือดออก (Petechial bleeding) เป็นระดับไม่ต้องมีการรักษาด้วยการให้สารน้ำ/น้ำเกลือ หรือ ให้เลือด
  • ระดับ 2 เลือดออกให้เห็น แต่ไม่มาก ไม่ก่ออาการผิดปกติอื่นๆ จึงยังไม่ต้องมีการให้น้ำ เกลือ หรือ ให้เลือด
  • ระดับ 3 เลือดออกมาก ผู้ป่วยจะมีอาการ เช่น ใจสั่น ซีด เป็นระดับที่ต้องได้รับการรักษาด้วยน้ำเกลือ และ/หรือ การให้เลือด
  • ระดับ 4 เลือดออกรุนแรงมาก ความดันโลหิตต่ำมาก ต้องได้รับการให้เลือด ผู้เสียเลือด อาจเสียชีวิตได้ หรือ มีเลือดออกในอวัยวะสำคัญที่ส่งผลถึงคุณภาพชีวิต เช่น เลือดออกในสมอง หรือ เลือดออกในจอตา

ทั้งนี้ โดยทั่วไปในคนปกติ เมื่อเสียเลือดน้อยกว่า 10-15% ของปริมาณเลือดในร่างกาย (Blood volume) จะไม่ก่ออาการผิดปกติ อาจเพียงอ่อนเพลียเล็กน้อย ซึ่งในการบริจาคเลือดในแต่ละครั้ง มักอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 8-10% ของปริมาณเลือดทั้งหมดในร่างกาย (ในคนปกติจะมีปริมาณเลือดอยู่ที่ประมาณ 4.7-5 ลิตร โดยผู้หญิงจะมีปริมาณเลือดน้อยกว่าผู้ชายเล็กน้อย)

  • โรคเลือดเช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • มีแผลในอวัยวะนั้นๆ เช่น แผลในกระเพาะอาหาร โรคแผลเปบติค แผลในทวารหนัก
  • โรคความดันโลหิตสูงเช่น โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคติดเชื้อบางชนิดเช่น โรคไข้เลือดออก
  • ภาวะอักเสบ เช่น ช่องคลอดอักเสบ เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดเช่น ยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบในกลุ่มเอ็นเสด/NSAIDs และยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • โรคมะเร็งบางชนิดที่ทำให้มีเกล็ดเลือดต่ำเช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ภาวะตับวาย และไตวาย