logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ เจ็บหน้าอก

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : เจ็บหน้าอก

เจ็บหน้าอก / แน่นหน้าอก (Chest pain) เป็นอาการที่เกิดได้จากสาเหตุต่างๆ มากมาย ทั้งจากโรคทางกายและจากปัญหาทางอารมณ์/จิตใจโดยไม่ได้มีพยาธิสภาพของอวัยวะต่างๆ
โรคทางกายที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกมีสาเหตุหลักเป็นกลุ่มๆได้ดังนี้คือ

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดบวม และจากอาการไอรุนแรง
  • โรคทางเดินอาหาร เช่น อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหารอักเสบ
  • โรคของผนังหน้าอก เช่น กระดูกซี่โครงบาดเจ็บ หรือโรคงูสวัดของผิวหนังส่วนหน้าอก
  • ปัญหาทางอารมณ์จิตใจ เช่น เครียด โกรธ หรือการเรียกร้องความสนใจ

ทั้งนี้ อาการเจ็บหน้าอกมักเกิดร่วมกับอาการต่างๆ เสมอ เช่น เรอ แน่นท้อง มีไข้ ไอ หรือผิวหนังขึ้นผื่น แต่เจ็บหน้าอกที่เกิดร่วมกับอาการวิงเวียนจะเป็นลม หรือเจ็บ/ปวดร้าวไปขากรรไกรและแขน เป็นอาการที่ต้องพบแพทย์ฉุกเฉินเพราะอาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ

อาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด/กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด/อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris) เกิดจากการนำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ โดยสาเหตุสำคัญ ได้แก่ หลอดเลือดหัวใจตีบเนื่องจากการเสื่อมสภาพจากภาวะสูงอายุ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน กรรมพันธุ์

ที่พบได้บ่อยส่วนใหญ่จะมีอาการแน่นหน้าอก/หรือเจ็บแน่น/หรือปวดแน่นตรงกลางอกเหนือลิ้นปี่ แน่นหนักเหมือนมีอะไรกดทับหรือบีบ บางครั้งมีอาการแสบร้อน อาการดังกล่าวอาจลุกลามไปด้านหลัง คอ ไหล่ คาง หรือต้นแขน โดยทั่วไปมักมีอาการอยู่นานประมาณ 5 นาที แต่อาจน้อยหรือนานกว่านี้ได้ ลักษณะเฉพาะอีกประการคือ ตัวกระตุ้นให้เกิดอาการหรือมักจะเกิดอาการตอนใช้กำลัง/ออกแรง หรือมีความเครียดมากๆ หรือบางครั้งมีอาการหลังกินอาหารมื้อหนัก หรือตอนอากาศเย็นมากๆ (บางคนอาจพบตอนอากาศร้อนมากๆ) หรือ ช่วงสูบบุหรี่ โดยอาการปวด แน่น เจ็บ หน้าอก จะทำให้รู้สึกหายใจลำบาก เหงื่อไหล บางคนมีอาการคลื่น ไส้ร่วมด้วย และอาการจะรุนแรงหากการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจมีมาก

  • ควรนอนราบ แล้วให้ญาติติดต่อรถฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทร 1669/ใช้ ได้ทั่วประเทศ (สถาบันแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ/สพฉ. กระทรวงสาธารณสุข ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง)
  • หากมียาขยายหลอดเลือดหัวใจ รีบให้รับประทาน หรืออม หรือพ่นในช่องปาก แล้วแต่ว่ามียาชนิดใด