logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ บาดทะยัก

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : บาดทะยัก

  • ผ่านทางแผลสด: โดยส่วนใหญ่จะเป็นแผลขนาดเล็กๆ แต่ลึก เช่น แผลจากตะปู หรือเศษไม้ตำ แผลอื่นๆ เช่น แผลถูกสัตว์กัด แผลถลอก แผลฉีกขาด แผลถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือแม้แต่แผลผ่าตัดก็พบได้ ถ้าระบบปลอดเชื้อของห้องผ่าตัดไม่ได้มาตรฐาน หรือการดูแลแผลผ่าตัดที่ไม่สะอาด รวมทั้งแผลจากการถอนฟัน รักษารากฟัน ก็มีโอกาสติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน
  • ผ่านทางแผลเรื้อรัง: เช่น แผลเบาหวาน และแผลเป็นฝี
  • ผ่านทางการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน: พบในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดหรือการสักลาย  
  • ผ่านทางสายสะดือในเด็กแรกคลอด: เกิดจากมารดาที่ไม่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยัก และการใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาดตัดสายสะดือเด็ก
  • จากการเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ

โรคบาดทะยักมีระยะฟักตัวคือ ตั้งแต่ได้รับเชื้อโรคจนกระทั่งเกิดอาการประมาณ 8 วัน (อยู่ในช่วง 3-21วัน) ผู้ป่วยที่ติดเชื้อบาดทะยัก จะมีอาการแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มที่เกิดอาการทั่วร่างกาย: เป็นกลุ่มที่พบมากที่สุด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีไข้ ซึ่งไม่เหมือนโรคติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ที่มักมีไข้

  • โดยเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อบริเวณกรามแข็งเกร็ง อ้าปากได้ยาก กลืนลำบาก ต่อมากล้ามเนื้อบริเวณคอไหล่และหลังจะแข็งเกร็ง ทำให้มีอาการปวด และในที่สุดกล้ามเนื้อทั่วตัวก็จะแข็งเกร็งและมีการหดตัวเกิดขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีท่าทางที่จำเพาะ เช่น
    • การที่กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้ามีการหดตัวและแข็งเกร็ง ทำให้ผู้ป่วยแสดงสีหน้าที่ดูเหมือนกำลังแสยะยิ้ม
    • ส่วนการที่กล้ามเนื้อหลังหดตัวและแข็งเกร็ง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหงายตัวออก กล้ามเนื้อขาเหยียดตึงไปด้านหลัง (คล้ายทำท่าสะพานโค้ง) และกล้ามเนื้อแขนงอและบิดออกพร้อมกับกำหมัด
  • การหดเกร็งของกล้ามเนื้อจะเกิดขึ้นเป็นพักๆ เพียงช่วงสั้นๆ โดยมีสิ่งเร้าเพียงเล็กน้อยเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการหดเกร็งขึ้นมา เช่น เสียงดัง การสัมผัสตัว ในขณะที่มีการหดตัวและแข้งเกร็งของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นนั้น การรับรู้สัมผัสและความรู้สึกตัวของผู้ป่วยจะปกติทุกอย่าง (ซึ่งไม่เหมือนกับผู้ป่วยโรคลมชักที่จะไม่รู้สึกตัว)
    • ถ้าอาการหดตัวและแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นยาวนาน จะทำให้หายใจได้ลำบาก ผู้ป่วยจะขาดอากาศและตัวเขียว
    • ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่รุนแรง คือกล้ามเนื้อทั้งตัวหดตัวและแข็งเกร็งอย่างรุนแรงพร้อมๆ กัน ซึ่งจะทำให้เกิดความเจ็บปวดมาก และทำให้กล้ามเนื้อที่ช่วยการหายใจทำหน้าที่ตามปกติไม่ได้ หลอดลมหดเกร็ง เกิดภาวะหายใจล้มเหลวตามมาและเสียชีวิตในที่สุด
  • ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดแขน/ขาหดตัว หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะ อาจเกิดหัวใจหยุดเต้น มีไข้สูงมาก และ/หรือ เหงื่อออกทั่วตัว

ทั้งนี้ โรคในกลุ่มเกิดอาการทั่วร่างกายนี้ มีอัตราเสียชีวิตประมาณ 4-30% ขึ้นกับได้รับเชื้อในปริมาณน้อยหรือมากและอายุ โดยในผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป โอกาสเสียชีวิตจะสูง

2. กลุ่มที่เกิดอาการแบบเฉพาะที่: ผู้ป่วยในกลุ่มนี้พบได้ค่อนข้างน้อย อาการจะมีแค่การหดตัวและแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณใกล้แผลเท่านั้น พิษของเชื้อไม่ลุกลามเข้าสู่สมองและไขสันหลัง ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโรคไม่รุนแรง อัตราเสียชีวิตประมาณ 1%

3. กลุ่มที่เกิดอาการแบบเฉพาะที่ศีรษะ: เป็นกลุ่มที่พบได้น้อยมากมาก เกิดจากผู้ป่วยมีอุบัติเหตุที่ศีรษะ หรือมีการติดเชื้ออักเสบของหูชั้นกลาง พิษของเชื้อจะเข้าสู่เส้นประสาทบริเวณใบหน้า และอาจลุกลามเข้าสู่สมอง ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูง

*อนึ่ง บาดทะยักในเด็กแรกเกิด ซึ่งเกิดจากการใช้เครื่องมือที่ไม่สะอาดตัดสายสะดือประกอบกับมารดาไม่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยัก จึงไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะส่งต่อให้ลูกได้ อาการคือ หลังคลอดได้ประมาณ 7 วัน เด็กทารกจะไม่ค่อยดูดนม งอแง และมีการหดตัวและแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายเกิดขึ้น ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง เด็กมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 90%