logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ คอพอก

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : คอพอก

คอพอก เกิดจากเซลล์ของต่อมไทรอยด์มีการเจริญเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าปกติ ต่อมไทรอยด์จึงมีขนาดโตขึ้น บ่อยครั้งเกิดร่วมกับการมีพังผืดเกิดขึ้นด้วย จึงส่งผลให้เนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์เกิดเป็นก้อนเนื้อตะปุ่มตะป่ำตามมา คอพอกแบ่งตามการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะและการทำงานของเซลล์ต่อมไทรอยด์ ออกเป็น 4 ชนิด คือ

  • ชนิดต่อมไทรอยด์โตเรียบทั่วทั้งต่อมและไทรอยด์เซลล์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนปกติ (Diffuse nontoxic goitre) เกิดในคนในถิ่นที่พื้นดินและสิ่งแวดล้อมขาดธาตุไอโอดีน ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์โตเรียบทั่วไป ไม่มีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำ
  • ชนิดต่อมไทรอยด์เป็นตะปุ่มตะป่ำและไทรอยด์เซลล์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนปกติ (Nontoxic multinodular goitre) เป็นโรคพบได้บ่อยในถิ่นที่พื้นดินและสิ่งแวดล้อมขาดธาตุไอโอดีน ทั้งนี้ต่อมไทรอยด์อาจมีขนาดโตไม่มากไปจนถึงโตได้เป็นหลายๆ เซนติเมตร ซึ่งปุ่ม (ก้อนเนื้อ) เองก็มีได้ตั้งแต่ขนาดมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าไปจนถึงโตเป็นหลายๆ เซนติเมตร
  • ชนิดต่อมไทรอยด์เป็นตะปุ่มตะป่ำและไทรอยด์เซลล์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเกินปกติ (Toxic multinodular goitre) เป็นโรคพบได้น้อยกว่าคอพอกทั้งสองชนิดแรก เกิดได้ทั้งจากการขาดธาตุไอโอดีนและอาจจากมีการผิดปกติทางพันธุกรรมร่วมด้วย
  • ชนิดมีปุ่มเนื้อปุ่มเดียวและปุ่มเนื้อสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเกินปกติ (Hyperfunctioning solitary nodule) เป็นชนิดที่พบได้น้อยมาก โดยผู้ป่วยมักมีอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษร่วมด้วย แต่อาการไม่มาก

ทั้งนี้ นอกจากภาวะขาดธาตุไอโอดีนแล้ว สาเหตุอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดคอพอกได้ แต่พบได้น้อยกว่าภาวะขาดไอโอดีน คือ

  • พันธุกรรม โดยเฉพาะผู้หญิง โดยคนกลุ่มนี้มักเกิดโรคในอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษชนิดเกรวฟ (Graves’ disease) และโรคต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดฮาชิโมโต (Hashimoto’s disease)
  • การตั้งครรภ์ เพราะมีฮอร์โมนบางชนิดจากการตั้งครรภ์ (Human chorionic gona dotropin) สามารถกระตุ้นเซลล์ต่อมไทรอยด์ให้เจริญโตขึ้นผิดปกติได้ โดยต่อมจะยุบกลับเป็นปกติภายหลังการคลอด
  • ต่อมไทรอยด์อักเสบติดเชื้อ เช่น จากติดเชื้อไวรัส
  • โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์
  • อาการจากสาเหตุ ถ้าคอพอกเกิดจากขาดธาตุไอโอดีน การทำงานของต่อมไทรอยด์มักสร้างฮอร์โมนอยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือต่ำเล็กน้อย ผู้ป่วยจึงมักไม่มีอาการ แต่ถ้าโรคเกิดจากสาเหตุที่ทำให้ต่อมไทรอยด์มีฮอร์โมนสูงเกินปกติมาก ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษได้ เช่น ในโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษชนิดเกรวฟ หรืออาจมีอาการจากต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) เช่น ในระยะเรื้อรังของโรคต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดฮาชิโมโต
  • อาการจากขนาดของคอพอก/ขนาดของต่อมไทรอยด์ ถ้าคอพอกโตไม่มากและต่อมไทรอยด์ทำงานได้ตามปกติ ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการอะไรเลย เพียงแต่เมื่อส่องกระจกอาจมองเห็นหรืออาจมีคนทักว่าต่อมไทรอยด์โต แต่หากต่อมไทรอยด์โตมาก จะก่ออาการจากต่อมกดเบียดทับเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง ซึ่งคือ ลำคอ หลอดลม หลอดอาหาร และประสาทกล่องเสียง เช่น รู้สึกแน่นอึดอัดในลำคอ อาจมีหายใจอึดอัดลำบากขึ้น ไอบ่อย ไอเรื้อรัง กลืนลำบาก และอาจมีเสียงแหบ
  • อาจไม่จำเป็นต้องมีการรักษาเมื่อผู้ป่วยมีอาการปกติ การทำงานของต่อมไทรอยด์ปกติ และขนาดต่อมไทรอยด์ไม่โตมาก เพียงปรับประเภทอาหารให้มีธาตุไอโอดีนสูงขึ้น เช่น อาหารทะเล สาหร่ายทะเล และใช้เกลือที่ผสมไอโอดีนในการปรุงอาหาร
  • กินยาไทรอยด์ฮอร์โมนเมื่อพบมีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ และให้ยารักษาในกรณีที่มีอาการของโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรืออาจรักษาด้วยการกินน้ำแร่รังสี ทั้งนี้ขึ้นกับสุขภาพผู้ป่วย อายุ และดุลพินิจของแพทย์
  • การผ่าตัด เช่น ต่อมไทรอยด์โตมากจนก่ออาการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง หรือเมื่อสงสัยว่าอาจเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์