logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ ครรภ์เป็นพิษ

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ครรภ์เป็นพิษ

คือ ภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ140/90 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับมีภาวะโปรตีนหรือไข่ขาวในปัสสาวะของสตรีตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ ไปจนกระทั่งหลังคลอด 1 สัปดาห์

ทั้งนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายหรือฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อบางตัว หรือจากกรรมพันธุ์ ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากความไม่สมดุลกันระหว่างโปรตีนบางตัวที่สร้างขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในสตรีตั้งครรภ์ ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างหลอดเลือดไปเลี้ยงรกได้เพียงพอ บางส่วนของรกจึงขาดเลือด เกิดการตายของเนื้อรกบางส่วนที่มีการปล่อยสารที่ส่งผลให้หลอดเลือดทั่วร่างกายของสตรีตั้งครรภ์หดตัว

  1. ชนิดรุนแรงน้อย คือ สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษโดยมีความดันโลหิตสูงไม่เกิน 160/110 มม.ปรอท หรือมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน หรือไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย และทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์
  2. ชนิดรุนแรงมาก คือ ภาวะครรภ์เป็นพิษที่มีความดันโลหิตสูงมากกว่า 160/110 มม.ปรอท หรือมีโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 2 กรัมต่อวัน หรือมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ปวดหัวมาก ตาพร่ามัว มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการชักขณะตั้งครรภ์โดยที่ไม่เคยมีอาการชักมาก่อนตั้งครรภ์ (Eclampsia) และอาจเกิดภาวะเลือดออกในสมอง/ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะจนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
  • มีความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มม.ปรอท
  • ตรวจพบโปรตีนไข่ขาวในปัสสาวะ
  • น้ำหนักเพิ่มมากอย่างรวดเร็ว มีอาการบวมตาม ใบหน้า มือ ข้อเท้า และเท้า
  • ปวดหัวโดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย หน้าผาก โดยกินยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น
  • มีตาพร่ามัว อาจตาบอดชั่วขณะได้
  • จุก/แน่นหน้าอก หรือที่บริเวณลิ้นปี่
  • หากอาการรุนแรง อาจมีอาการชักกระตุกทั้งตัว เกิดเลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะได้

ก. ภาวะแทรกซ้อนต่อมารดา: เช่น มีเลือดออกในสมองจากหลอดเลือดในสมองแตก เกิดอาการชัก ตาบอด (ชั่วคราว/ถาวร) มีภาวะน้ำท่วมปอด/ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด หรือมีเลือดออกในอวัยวะต่างๆ จากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

ข. ภาวะแทรกซ้อนต่อทารกในครรภ์: เช่น ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ มีภาวะน้ำคร่ำน้อย คลอดก่อนกำหนด หัวใจทารกเต้นช้าจากการขาดออกซิเจน หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์

  1. งดทำงานหนัก งดเดินชอปปิ้ง ให้พักผ่อนมากๆ
  2. หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม
  3. งดมีเพศสัมพันธ์อย่างเด็ดขาด เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์มีผลทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น เลือดสูบฉีดจากหัวใจมากขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น