logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ ขนคุด

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ขนคุด

โรคขนคุด (Keratosis pilaris / KP) ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรมที่มีความผิดปกติของการสร้างเซลล์ผิวหนัง (Keratinization) ที่ส่งผลให้บริเวณรูขุมขนมีการอุดตันของรูขุมขนด้วยสารเคอราตินที่เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง เรียกว่า Keratin plug ส่งผลให้ขนไม่สามารถงอกทะลุรูขุมขนออกมาได้ เกิดเป็นขนคุดอยู่ใต้ผิวหนัง

โรคขนคุด เกิดในคนทุกอายุทุกเชื้อชาติ ทั้งเพศชายและเพศหญิง อาจเป็นโรคเดี่ยวๆ หรือพบร่วมกับโรคอื่น เช่น Atopic dermatitis (โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง) Ichthyosis (โรคผิวหนังเกล็ดปลา/ผิวหนังแห้งมากจนตกสะเก็ด) โดยมักพบในผู้ที่มีผิวแห้งมากกว่าผิวมัน และอาการจะเป็นมากขึ้นในฤดูหนาวที่มีอาการเย็นและแห้ง

จากการสะสมของโปรตีนเคอราตินอุดตันรูขุมขน ทำให้ขนไม่สามารถงอกพ้นผิวหนังออกมาได้ตามปกติ จึงเกิดเป็นตุ่มตามรูขุมขนมากมาย ทำให้ผิวหนังดูสากคล้ายกระดาษทรายหรือหนังไก่ บริเวณที่พบได้ คือ ต้นแขนด้านนอก ต้นขาด้านนอก บริเวณใบหน้าก็สามารถเกิดได้เช่นกันซึ่งมักพบในเด็ก และอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นสิว ตุ่มจากโรคขนคุดเหล่านี้มักไม่มีอาการอื่น (เช่น คัน เจ็บ) และมีสีออกสีเนื้อ พบได้บ้างที่มีการอักเสบ ซึ่งจะทำให้มีรอยแดงรอบรูขุมขนและมีอาการคันร่วมด้วย

โรคขนคุด ไม่มีการรักษาให้หายขาด แต่โรคก็มีโอกาสที่จะหายได้เองเมื่ออายุมากขึ้น การรักษาเป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ หลักคือการใช้ยาทา เพื่อให้โปรตีนเคอราตินที่อุดตันรูขุมขนหลุดออก ซึ่งอาการมักกลับมาเมื่อหยุดการดูแลรักษา ทั้งนี้ ผลการรักษาที่ดีขึ้น เริ่มสังเกตได้หลังการรักษาตั้งแต่ประมาณ 3-4 สัปดาห์จนถึง 2-3 เดือน ซึ่งมีวิธีการรักษา เช่น

  • ทายาสเตียรอยด์ เช่น 0.1% triamcinolone cream เพื่อลดการอักเสบ ร่วมกับทายากลุ่ม urea เพื่อให้เซลล์ผิวหนังผลัดตัวเร็วขึ้น
  • กินยาแก้แพ้ แก้คันร่วมด้วย ในกรณีที่คันมาก

ปัจจุบันอาจมีทางเลือกอื่น เช่น การทำเลเซอร์ชนิด long pulsed NdYAG ที่มีความยาวคลื่น 1064 นาโนเมตร เพื่อทำลายขนบริเวณนั้นๆ ทำให้ขนบริเวณนั้นไม่ขึ้นอีกหรือรูขุมขนดีขึ้นได้ แต่อาจจำเป็นต้องทำหลายครั้ง

โรคขนคุด ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างใด แต่อาจทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์ และความสวยงาม

  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน หรือน้ำอุ่นจัด แนะนำอาบน้ำธรรมดา
  • ใช้สบู่อ่อนๆ เช่น สบู่เด็กอ่อน หรือใช้สบู่ที่มี pH5 เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น
  • ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์หลังอาบน้ำทันที หลีกเลี่ยงครีมกลุ่มที่มีน้ำหอม เพราะจะทำให้ผิวหนังระคายเคือง

เนื่องจากสาเหตุการเกิดโรคขนคุด มีพื้นฐานมาจากพันธุกรรม ดังนั้นจึงไม่สามารถป้อง กันโรคนี้ได้ แต่การรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังจะช่วยลดการเกิดของอาการได้